วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ประวัติเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวกำเนิดในครอบครัวของตระกูลลิ้ม มีนามว่า “กอเหนี่ยว” มีภูมิลำเนาเป็นชาวมณฑลฮกเกี้ยน เนื่องจากพี่ชายของเจ้าแม่ชื่อ ลิ้มเต้าเคียน (หรือลิ้มโต๊ะเคี่ยม) มีประวัติการต่อสู้อันโลดโผน ได้สร้างชื่อเสียงไว้ หนังสือ “ภูมิประวัติเมืองแต้จิ๋ว” เล่มที่ 38 เรื่อง “ชีวประวัติลิ้มเต้าเคี่ยม” กล่าวว่าท่านมีพื้นเพเดิมเป็นชาวอำเภอฮุยไล้ แขวงเมืองแต้จิ๋ว จากการตรวจสอบหลักฐานที่เมืองแต้จิ๋วของนักโบราณคดี ปรากฏว่าที่หมู่บ้านเที้ยเพ็งตอนใต้ ยังมีฮวงซุ้ยบรรพบุรุษตระกูล
ลิ้มเต้าเคียนเป็นประจักษ์หลายหลักฐานอยู่ที่นั่น
ในรัฐสมัยพระเจ้าโอจงฮ่องเต้แห่งราชวงศ์เหม็ง (ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2065-2109)
ยังมีครอบคัวตระกูลลิ้มอยู่ครอบครัวหนึ่งมีบุตร 2 คน บุตรชายชื่อ ลิ้มเต้าเคียน มีลักษณะท่าทางอันทระนง องอาจ ใจคอกว้างขวาง และมีสมัครพรรคพวกมาก ส่วนบุตรสาว มีนามว่า ลิ้มกอเหนี่ยว เป็นผู้มีอัธยาศัยอันดีงาม มีความกตัญญูต่อบิดามารดา และมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว เมื่อเยาว์วัยทั้ง
2 คนพี่น้องได้ศึกษาเล่าเรียนศิลปะต่าง ๆจนแตกฉาน ลิ้มเต้าเคียนผู้พี่เป็นหนุ่มจึงได้สนองคุณบิดามารดาและเข้าสมัครเป็นราชการอำเภอ เมื่อสิ้นบุญบิดาแล้ว ลิ้มเต้าเคียนไปทำราชการอยู่ที่เมือง
จี่วจิว แขวงมณฑลฮกเกี่ยน น้องสาวลิ้มกอเหนี่ยวคอยเฝ้าปรนนิบัติมารดา ลิ้มเต้าเคียนมีอุปนิสัยรักความเป็นธรรม ชาวบ้านจั่วจิวต่างก็ให้ความนับถือรักใคร่ แต่เป็นที่อิจฉาและยำเกรงของเหล่า
ขุนนางกังฉินยิ่งนัก
ในรัชสมัยของพระเจ้าซื่อจงฮ่องเต้ ปรากฏว่ามีโจรสลัดชุกชุมที่ร้ายกาจนักก็คือโจรสลัดญี่ปุ่น ได้เที่ยวปล้นบ้านตีเมืองตามชายฝั่งทะเลของจีนอยู่เนืองนิจ สร้างความเดือดร้อนเป็นอันมาก โจรสลัดญี่ปุ่นได้ระดมกำลังเข้าโจมตีมณฑลจิเกียงอย่างแรง เมืองหลวงจึงได้แต่งตั้งขุนพลนามว่า เซ็กกีกวง เป็นแม่ทัพคุมทัพเรือไปทำการปราบปรามโจรสลัดญี่ปุ่น ลิ้มเต้าเคียนจึงถูกคู่อริผู้พยาบาทถือโอกาสใส่ความว่า ลิ้มเต้าเคียนได้สมคบกับโจรสลัดญี่ปุ่น มีการซ่องสุมกำลังผู้คน และอาวุธคิดจะทำการกบฏ ลิ้มเต้าเคียนคิดว่า การที่ตนมาถูกเขาปรักปรำกล่าวโทษฉกรรจ์เช่นนี้ ย่อมไม่มี
โอกาสหาทางแก้ตัวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ ลิ้มเต้าเคียนจึงได้ชักชวนเหล่าพรรคพวกของตนที่กระจัดกระจายแล้วพากันอพยพหลบภัย ด้วยการนำเรือ 30 ลำตีออกจากที่ล้อมของทหารหลวงโดยแล่นออกทะเลอย่างปลอดภัย ขบวนเรือได้บ่ายหน้าไปถึงเกาะไต้หวันเป็นแห่งแรก บางตำนานเล่าว่า ลิ้มเต้าเคียนเคยอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ต่อมาจึงได้มาตั้งรากฐานอยู่ที่เมืองปัตตานี ในจดหมายเหตุราชวงศ์เหม็ง เล่มที่ 323 บันทึกว่า ลิ้มเต้าเคียนได้หลบหนีการจับกุมไปอาศัยอยู่ที่เมืองปัตตานี มีท่าเรือเรียกว่า ท่าเรือเต้าเคียน ภายหลังลิ้มเต้าเคียนได้เข้ารีตนับถือศาสนาอิสลาม และได้ภรรยาซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์ของเจ้าเมืองปัตตานี เป็นที่โปรดปรานของเจ้าเมืองมาก ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น
หัวหน้าด่านศุลกากร เก็บส่วยสาอากร
ลิ้มเต้าเคียนจากถิ่นฐานบ้านเดิมมาอาศัยอยู่ที่เมืองปัตตานีเป็นเวลาช้านาน ไม่ได้ส่งข่าวคราวไปให้มารดาและน้องสาวทราบ ทำให้มารดาซึ่งอู่ในวัยชรามากแล้วมีความห่วงใย ไม่รู้วาบุตรชายเป็นตายร้ายดีอย่างไร แล้วมารดาก็มักล้มป่วยอยู่เนืองๆ ลิ้มกอเหนี่ยวได้เฝ้าปรนนิบัติมารดาจนอาการป่วยหายเป็นปกติ ด้วยความกตัญญูกตเวที จึงได้ขออนุญาตจากมารดาขออาสาตามหาพี่ชายให้กลับบ้าน แต่มารดาไม่อนุญาต เพราะเกรงว่าการเดินทางจะได้รับความลำบากและเสี่ยงต่ออันตราย แต่ในที่สุด ทนต่อคำอ้อนวอนด้วยเหตุผลของลิ้มกอเหนี่ยวมิได้จึงยินยอม ลิ้มกอเหนี่ยวก็จัดสัมภาระเครื่องเดินทางเสร็จแล้วชักชวนญาติมิตรสนิทหลายคนไปด้วย ก่อนจากลิ้มกอเหนี่ยวได้ร่ำลามารดาด้วยสัจวาจาว่า “หากแม้นพี่ชายไม่ยอมกลับไปหามารดาแล้วไซร้ ตนก็จะไม่ขอมีชีวิตอยู่อีกต่อไป” พร้อมกับได้อวยพรให้มารดาจงมีความสุข และสั่งญาติพี่น้องให้ช่วยกันปรนนิบัติมารดา
ลิ้มกอเหนี่ยวกับญาตินำเรือออกเดินทางเป็นเวลาหลายเดือน จนกระทั่งถึงเขตเมืองปัตตานี ได้ทอดสมอจดเรื่อไว้ที่ริมฝั่ง ลิ้มกอเหนี่ยวกับพวกได้เดินทางเข้าไปในเมืองสอบถามชาวบ้านได้ความว่า ลิ้มเต้าเคียนยังมีชีวิตอยู่ ทั้งยังได้ดิบได้ดีเป็นใหญ่อยู่ที่นี่ ทุกคนต่างก็มีความปีติยินดีครั้นพบกับพี่ชายแล้ว ลิ้มกอเหนี่ยวก็เล่าความประสงค์ที่ได้ติดตามมาในครั้งนี้ว่า พี่ได้ทอดทิ้งมารดาและน้องสาว จากบ้านมาอยู่แดนไกลเสียเช่นนี้หาควรไม่ แม้นพี่กลับไปอยู่บ้านเดิมก็พอทำกินเป็นสุขได้อีก ทั้งทุกคนจะได้พร้อมหน้าอยู่ใกล้ชิดมารดา แต่ลิ้มเต้าเคียนคิดตรึกตรองแล้วว่า ถ้าหากกลับไปในขณะนี้ก็ยุ่งยากลำบากใจให้กับตนเอง เพราะทางราชการเมืองจีนยังไม่ประกาศอภัยโทษแก่ตน และฐานะความเป็นอยู่ของตนทางนี้ก็มีความสมบูรณ์พูนสุข จึงว่าแก่น้องสาวว่า พี่นั้นใช่จะเป็นผู้คิดเนรคุณทอดทิ้งมารดาและน้องสาว เพราะเหตุที่ได้ถูกทางราชการเมืองจึนกล่าวโทษว่าเป็นโจรสลัดอัปยศยิ่งนักจำต้องพลัดพรากหนีมาพึ่งพาอาศัยอยู่ที่นี่จนไม่มีโอกาสกลับไปทดแทนบุญคุณมารดาได้ อีกทั้งพี่อยู่ทางนี้ก็มีภารกิจมากมาย เพราะพี่ได้อาสาท่านเจ้าเมืองก่อสร้างมัสยิด จึงมิอาจรับคำ คิดจะกลับไปพร้อมน้องขณะนี้ได้ โปรดอภัยให้กับพี่เถิด ลิ้มเต้าเคียนก้จัดสิ่งของที่มีค่าเป็นอันมากเพื่อให้นำกลับปฝากมารดาและญาติพี่น้อง ลิ้มกอเหนี่ยวจึงขอพักอยู่ที่ปัตตานีชั่วคราว และคิดจะหาโอกาสอ้อนวอนพี่ชายกลับไปเมืองจีนต่อไป ขณะนั้นเจ้าเมืองปัตตานีได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วย
โรคชราและไม่มีบุตรที่จะยกขึ้นให้ครองเมืองต่อ พวกศรีตวันกรมการจึงปรึกษาหารือกันว่าจะเลือกบุตรพระญาติวงศ์องค์ใดที่จะยกให้เป็นเจ้าเมือง แต่ยังไม่ทันจะดำเนินการ ก็เกิดเหตุการณ์กบฏแย่งอำนาจขึ้น ถึงกับรบพุ่งนองเลือดระหว่างพระญาติวงศ์ของเจ้าเมือง พวกกบฎนั้นได้เตรียมการไว้ล่วงหน้า ผิดกับฝ่ายเจ้าเมืองที่ไม่ระวังมาก่อนจึงมิอาจต่อต้านป้องกันได้ทันท่วงที ลิ้มเต้าเคียนกับเหล่าทหารผู้จงรักภักดีได้ต่อสู้กับพวกกบฎ ลิ้มกอเหนี่ยวประสบเหตุการณ์เข้าเช่นนี้ ด้วยความเป็นห่วงพี่ชายจะได้รับอันตราย จึงได้เสี่ยงชีวิตเข้าช่วยพี่ชายรบกับพวกกบฎอย่างห้าวหาญ ฝ่ายกบฎที่ซุ่มอยู่อีกทางหนี่งเห็นพวกลิ้มกอเหนี่ยวรุกไล่มาก็กรูกันออกมาล้อมตีสกัดไว้ ลิ้มกอเหนี่ยวก็ไม่คิดหวาดหวั่นถอยหนีพร้อมกับพวกเข้าต่อสู้อยู่ท่ามกลางวงล้อม ดังนั้นเวลาไม่นานนัก พรรคพวกก็ถูกฆ่าตายบาดเจ็บหลายคน ลิ้มกอเหนี่ยวเห็นว่าถ้าจะสู้รบกับพวกกบฎคงจะถูกฆ่าตายแน่
จึงตัดสินใจว่า ถึงตัวตายครั้งนี้ก็ให้ปรากฏชื่อไว้เป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลลิ้ม ประกอบกับน้อยใจที่ไม่สามารถนำพี่ชายกลับเมืองจีนตามที่ได้รับปากกับมารดาไว้จึงได้ทำลายชีวิตของตนเอง ด้วยการผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์
ลิ้มเต้าเคียนกับพวกต่างเศร้าโศกยิ่ง จึงพร้อมกันจัดการศพตามประเพณีอย่างสมเกียรติ ทำเป็นฮวงซุ้ย ปรากฏมาจนทุกวันนี้ ที่อยู่บ้านกรือเซะ ตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี ส่วนผู้ที่ติดตามมากับลิ้มกอเหนี่ยวในคร้งนั้นก็ไม่คิดจะกลับไปเมืองจีนอีก บรรดาคนจีนในสมัยนั้น ได้ทราบ ซึ้งถึงความกตัญญู ซื่อสัตย์ รักษาคำพูด คำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้กับมารดาว่า ถ้าหากนำพี่ชายคือลิ้มเต้าเคียนกลับเมืองจีนไม่ได้ จะไม่ขอกลับเมืองจีนและยินดียอมตาย บรรดาคนจีนจึงได้เอา
กิ่งมะม่วงหิมพานต์ที่ลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายมาแกะสลักเป็นรูปลิ้มกอเหนี่ยวและกราบไหว้บูชาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาเล่ากันว่า ลิ้มกอเหนี่ยวได้สำแดงอันปรากฎสิ่งศักดิ์สิทธ์เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวเรือและประชาชนผู้สัญจรไปมาแถบถิ่นนั้นเสมอ จนเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไป กิตติศัพท์อภินิหารของ
ลิ้มกอเหนี่ยวในเหตุให้ประชาชนผู้เลื่อมใสสละทรัพย์สินสร้างศาลขึ้นที่หมู่บ้านกรือเซะ และสร้างรูปจำลองเพื่อไว้สักการะโดยทำพิธีอัญเชิญวิญญาณมาสิงสถิตในรูปจำลองนั้น พร้อมกับขนานนามว่า “เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว” ปรากฏว่ามีผู้คนหลั่งไหลไปกราบไหว้กันมากมาย ใครมีเรื่องเดือดร้อนก็ไปบนบานให้เจ้าแม่ช่วยเหลือ เมื่อบนบานแล้วต่างบังเกิดผลตามความปรารถนาแทบทุกคน จึงทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม้ลิ้มกอเหน่ยวแผ่ไพศาลออกไปยังเมืองอื่นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น